มะเร็งตับ

มะเร็งตับ 

มะเร็งตับ โรคที่พบมากในผู้ชายไทยและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญอันดับต้นๆ โรคมะเร็งตับนั้นมีความร้ายแรงเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับสูงกว่ามะเร็งชนิดอื่นที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยผู้ป่วยมักเสียชีวิตอย่างรวดเร็วภายหลังการวินิจฉัย ดังนั้น การรู้เท่าทันโรคมะเร็งตับจึงจำเป็นทั้งในการป้องกัน การวินิจฉัย รวมถึงการรักษาอย่างถูกวิธี 

สาเหตุ

มะเร็งตับมีสาเหตุชัดเจน และสามารถป้องกันได้หากรู้เท่าทันโรค สาเหตุที่สำคัญของการเกิดโรคตับมีดังนี้

  1. ไวรัสตับอักเสบชนิด B ซึ่งสามารถติดต่อได้ 3 ทางด้วยกันคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบชนิด B ถ่ายทอดทางเลือด (ได้รับเลือดจากพาหะหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน) ติดต่อจากแม่ที่เป็นพาหะไปสู่ลูก
  2. ไวรัสตับอักเสบชนิด C ซึ่งมีการติดต่อคล้ายกับไวรัสตับอักเสบชนิด B แต่พบว่าติดต่อทางการให้เลือดมากกว่า
  3. สารอะฟลาทอกซิน สารที่สร้างจากเชื้อราบางชนิดที่ปนเปื้อนในอาหารที่เก็บไม่ถูกต้อง เช่น ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าวกล้อง และพริกแห้ง เป็นต้น สารชนิดนี้จัดเป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เซลล์ตับเกิดการกลายพันธุ์จนเกิดโรคมะเร็งตับในที่สุด และหากมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด B อยู่แล้ว สารอะฟลาทอกซินจะกระตุ้นให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับสูงขึ้น
  4. การดื่มเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ จะทำให้ตับเสื่อมเร็วขึ้นและเกิดอาการตับแข็งได้ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ
  5. การเกิดภาวะตับแข็งเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็งตับ ซึ่งโรคนี้เกิดขึ้นจากสาเหตุต่างๆ หลายประการ ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะตับแข็งได้โดยไม่ทราบสาเหตุ 

สัญญาณเตือนภัยของมะเร็งตับ

การเป็นมะเร็งที่เนื้อตับมักไม่มีความเจ็บปวด กว่าผู้ป่วยมะเร็งจะเกิดอาการเจ็บปวด มะเร็งต้องลุกลามมากถึงผิวที่หุ้มตับแล้วเท่านั้น หรือก้อนต้องมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเกิดอาการไม่สบายตัว ผู้ป่วยจึงมาพบแพทย์ อาการของโรคมะเร็งตับมีหลายแบบโดยอาจแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังนี้

  1. อาการเฉพาะที่ 

เป็นอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งตับมีขนาดใหญ่เบียดเนื้อเยื่อปกติหรืออวัยวะใกล้เคียง คลำได้เป็นก้อนที่ช่องท้องส่วนบนขวาของร่างกาย เกิดอาการจุกแน่นบริเวณท้องด้านขวาบน ไม่สบายท้อง ท้องอืดแน่น หรือปวดท้อง ถ้ามะเร็งลุกลามไปถึงเยื่อบุตับ หรือทำลายเนื้อตับไปมากกว่า 70% จะเกิดอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง และมีเส้นเลือดขอดบริเวณหน้าท้อง

  1. อาการจากการลุกลามแพร่กระจายโรค 

มะเร็งตับอาจแพร่กระจายไปที่ปอดทำให้เกิดอาการเหนื่อยหอบ หรือถ้าลุกลามเข้ากระดูกจะเกิดอาการปวดกระดูก แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักเสียชีวิตไปก่อนที่โรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนอื่นของร่างกาย

  1. อาการจากพิษของมะเร็ง 

มะเร็งตับอาจปล่อยสารพิษออกมามากทำให้เกิดอาการต่างๆ หลายประการ ได้แก่ มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ผอมลง เป็นต้น

ชนิดของมะเร็งตับ

มะเร็งตับสารมารถแบ่งออกเป็นชนิดต่างๆ ได้ 3 ชนิด คือ

  1. มะเร็งตับที่เกิดจากเซลล์มะเร็งตับ เรียกว่า มะเร็งตับ (Hepatocellular Carcinoma) พบมากที่สุดมากกว่าร้อยละ 80 ของมะเร็งตับทั้งหมด
  2. มะเร็งท่อน้ำดี เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ คนที่ทานปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ในตับ จะเกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ และกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด
  3. มะเร็งตับชนิดอื่นๆ เช่น มะเร็งน้ำเหลือง (Lymphoma) ที่เกิดในตับ มะเร็งเส้นเลือดของตับ (Angiosarcoma) หรือมะเร็งที่แพร่กระจายจากอวัยวะอื่นๆ เข้าตับ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่แพร่กระจายเข้าตับ เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับ

เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับจากการมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ หรือมีอาการของโรคแสดงออกมา จำเป็นต้องตรวจเพื่อวินิจฉัยโรคมะเร็งตับซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังนี้

  1. การซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์
  2. การเจาะเลือดตรวจระดับดัชนีมะเร็งตับ อัลฟาฟีโตโปรตีน (AFP: Alpha-Fetoprotein) ถ้ามีระดับในเลือดสูงอาจเป็นโรคมะเร็งตับได้ การตรวจไวรัสตับอักเสบชนิด B และ C และการตรวจเลือดดูการทำงานของตับและเม็ดเลือด
  3. การตรวจทางรังสีวินิจฉัย การตรวจด้วยวิธีเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอ็กซเรย์สนามแม่เหล็กที่เรียกว่า เอ็มอาร์ไอ (MRI: Magnetic Resonance Imaging) ให้ผลการตรวจที่แม่นยำและจำเพาะดีกว่าการตรวจด้วยอัลตราซาวด์
  4. การเจาะตับตรวจทางพยาธิวิทยา เป็นการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอนแต่อาจมีผลข้างเคียงของการตกเลือด  หรือการติดเชื้อภายหลังการเจาะได้
  5. การส่องกล้องตรวจ นิยมใช้ตรวจแผลหรือเส้นเลือดในกระเพาะ ซึ่งเป็นผลแทรกซ้อนจากภาวะตับแข็ง หรือส่องกล้องตรวจท่อน้ำดีในกรณีที่สงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับ

ผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งตับ เช่น เป็นพาหะของโรคไวรัสตับอักเสบชนิด B หรือ C และตับแข็ง ควรตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับด้วยการเจาะเลือดตรวจระดับค่าอัลฟาฟีโตโปรตีน และตรวจอัลตราซาวด์ตับทุก 6 เดือน ตลอดชีวิตเพื่อตรวจค้นหาโรคมะเร็งตับระยะเริ่มต้นที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการ ผ่าตัด

การรักษาโรคมะเร็งตับ

การรักษาโรคมะเร็งตับขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นและหน้าที่ของตับในขณะนั้น ซึ่งมีวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. การผ่าตัดก้อนมะเร็งออก 

ทำได้ในกรณีที่มะเร็งตับมีขนาดเล็กผ่าตัดออกได้หมด โรคยังไม่แพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองหรือส่วนอื่นของร่างกาย ถือว่าเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุดเพราะสามารถหายขาดได้ แต่ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด

  1. การผ่าตัดเปลี่ยนตับ 

ในกรณีที่ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ไม่แพร่กระจายออกไปนอกตับ แต่มีภาวะตับแข็ง ตับเสื่อมมาก อาจพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนตับ แต่โรคอาจกำเริบไปไกลระหว่างรอการบริจาคตับ

  1. การจี้ด้วยคลื่นความถี่สูง (Radiofrequency ablation) 

การจี้ก้อนมะเร็งตับด้วยคลื่นความถี่สูง จะเกิดพลังความร้อนทำลายก้อนมะเร็งตับที่ขนาดเล็กได้

  1. การฉีดแอลกอฮอล์เข้าก้อนมะเร็งตับ 

ในกรณีที่ก้อนมะเร็งตับมีขนาดเล็ก เช่น ไม่เกิน 3 เซนติเมตรก้อนเดียว อาจใช้เข็มฉีดยาฉีดแอลกอฮอล์ผ่านทางผิวหนังเข้าสู่ก้อนมะเร็งโดยตรง

  1. การฉีดยาเคมีบำบัดและสารอุดเส้นเลือดตับที่เลี้ยงก้อนมะเร็งตับ (Transarterial Chemoembolization) 

ฉีดยาเคมีบำบัดและสารไปอุดเส้นเลือดแดงของตับโดยตรงจะทำลายก้อนมะเร็งตับโดยมีผลน้อยต่อตับปกติ วิธีนี้นิยมใช้รักษามะเร็งเฉพาะที่ในกรณีที่ผ่าตัดก้อนมะเร็งตับไม่ได้

  1. การฉายแสงที่ก้อนมะเร็ง 

เป็นการรักษาแบบประคับประคอง ลดอาการเจ็บปวดจากก้อนมะเร็งตับ โดยการฉายแสงรังสีที่ตับโดยตรง อาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด

  1. การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยา 

การรักษาโรคมะเร็งตับด้วยยา คือ มะเร็งตับระยะแพร่กระจาย หรือมะเร็งตับที่โรคเป็นมาก ไม่สามารถผ่าตัดได้ เป็นการรักษาเพื่อลดอาการและยืดชีวิตของผู้ป่วย

ถึงแม้จะทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งตับ แต่การรักษาโรคมะเร็งตับยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลดีเมื่อเปรียบเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ดังนั้น การป้องกันและการวินิจฉัยโรคมะเร็งตับตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เช่น การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบชนิด B ตั้งแต่เกิด การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ และการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีความสำคัญในการลดอัตราการเสียชีวิตได้ และเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งตับแล้ว ควรได้รับการรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เพื่อหวังผลหายขาดหรือยืดชีวิตของผู้ป่วยและเพิ่มคุณภาพชีวิต รวมทั้งการป้องกันผลแทรกซ้อนของภาวะที่พบร่วมกัน จึงจะได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด