รังสีไมโครเวฟ ก่อมะเร็งจริงหรือ?
ไมโครเวฟเป็นตัวช่วยสำคัญในชีวิตประจำวันของคนในสังคมเร่งด่วน เป็นตัวช่วยให้ได้กินอาหารที่อุ่นร้อนอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าแค่แกะถุง เทใส่ชาม เข้าไมโครเวฟ รอ 1-2 นาที ก็ได้กินอาหารร้อนๆ แล้ว
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ไมโครเวฟก็มักได้ยินข่าวลือเกี่ยวกับไมโครเวฟอยู่เสมอ เช่น “กินอาหารที่อุ่นด้วยไมโครเวฟบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง” “อาหารที่นำเข้าอุ่นต้องปิดฝามิเช่นนั้นรังสีไมโครเวฟจะทำให้เป็นมะเร็ง” CA จึงจะมาไขข้อข้องใจกัน ว่าข่าวลือที่ว่านั้นเป็นจริงหรือไม่
ทำไมไมโครเวฟจึงทำให้อาหารร้อนได้
คลื่นไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดหนึ่ง มีความยาวคลื่น 2150 เมกะเฮิร์ตซ์ โดยอาหารจะร้อนและสุกขึ้นมาได้ เนื่องจากคลื่นไมโครเวฟจากแหล่งกำเนิดภายในวิ่งผ่านกระทบกับอาหารนั้น ทำให้โมเลกุลของน้ำที่อยู่ในอาหารเกิดการสั่นสะเทือนจนเกิดความร้อนและสุก หลังจากนั้นคลื่นไมโครเวฟก็จะสลายตัว ที่สำคัญคือ คลื่นไมโครเวฟมีพลังงานต่ำมาก ต่ำกว่ารังสี UV จากแสงแดดที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังเสียอีก
รังสีไมโครเวฟสามารถหลุดรอดมาได้หรือไม่?
ตู้ไมโครเวฟมีวิธีการป้องกันไม่ให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหลุดลอดออกมา สิ่งที่บุภายในตู้เป็นโลหะที่ทำหน้าที่สะท้อนคลื่นให้อยู่ภายใน และหากสังเกตให้ดีที่บริเวณฝาหน้าของเครื่องก็จะมีโลหะที่สานกันอยู่ซึ่งสามารถสะท้อนคลื่นได้ ทั้งนี้หากคลื่นมีการรั่วไหลออกมาจริง คนจะสามารถรับรู้ได้ทันทีเพราะจะมีความร้อนออกมาจากเตา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า ไมโครเวฟ ไม่ใช่รังสีอันตรายเหมือนพวกกัมมันตรังสี หรือรังสีเอ็กซ์ เพราะตลอด 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีการใช้เครื่องไมโครเวฟอย่างแพร่หลาย
ยังไม่พบกรณีศึกษาใดที่ระบุว่า มีคนที่เป็นโรค มะเร็ง จากการรับประทานอาหารที่ให้ความร้อนด้วยวิธีนี้ หลังจากนี้ ผู้บริโภคก็น่าจะคลายความกังวล และใช้ไมโครเวฟได้อย่างสบายใจกันเสียที