มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงอีกด้วย มะเร็งเต้านมนั้นเกิดจากความปิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่ห่างไกล เช่น ปอด กระดูก ตับ เป็นต้น สำหรำบมะเร็งเต้ามนมนั้น หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก อาจมีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาสูง
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมได้มีดังนี้
- ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงของโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน เต้านมอีกข้างอาจมีโอกาสมากขึ้นที่จะตรวจพบมะเร็งได้
- มีประวัติการป่วยโรคมะเร็งเต้านมในญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว
- เคยตรวจพบเนื้อเยื่อเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งในอดีต
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของยีนจำเพาะบางชนิด
- ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรหรือมีบุตรตอนอายุมากจะเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งเล็กน้อย
- การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอาย 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี อาจเพิ่มอัตราเสี่ยงมะเร็งได้
- มีประวัติการได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอกเมื่ออายุน้อย เช่น ใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
- มีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดและใช้ฮอร์โมน
- การตรวจพบเนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นหรือมีการสะสมไขมันเยอะจากการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) อาจพบโรคมะเร็งเต้านมได้บ่อยขึ้น
- ภาวะโรคอ้วนลงพุงและน้ำหนักเกินในสตรีวัยหมดประจำเดือน
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่เป็นมะเร็งเต้านมแม้มีปัจจัยเสี่ยง ในขณะที่คนที่เป็นมะเร็งเต้านมหลายรายไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เลยแม้แต่ข้อเดียว
การตรวจคัดกรอง
การตรวจคัดกรองเป็นประจำจะช่วยให้แพทย์สามารถพบโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาโรคให้หายขาดได้สูงขึ้น
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่แนะนำได้แก่
- การตรวจเต้านมด้วยตนเอง
ควรทำการตรวจเต้านมเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน การเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้นั้นอาจเกิดจากอิทธิพลของระดับฮอร์โมนเพศในช่วงต่างๆ เช่น ระหว่างรอบประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ วัยทอง การใช้ฮอร์โมนทดแทน ยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่สมุนไพรและยาพื้นบ้านต่างๆ หากตรวจด้วยตัวเองสงสัยหรือไม่แน่ใจว่ามีก้อนหรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยต่อไป
การตรวจเต้านม สามารถตรวจได้ทั้งท่านั่งและท่านอนหงาย เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ของเต้านม หัวนม และท่อน้ำนมว่าเป็นอย่างไร ในด้านของขนาด (size) รูปร่าง (contour) ลักษณะของก้อน (texture) การกดเจ็บ (tenderness) และตำแหน่ง (position) ของก้อนนั้นๆ เป็นต้น
- การตรวจแมมโมแกรม
การตรวจแมมโมแกรมจะช่วยตรวจค้นหาก้อนบริเวณเต้านมที่มีขนาดเล็กจนอาจคลำไม่พบ เมื่อแพทย์สงสัยรอยโรคผิดปกติจากการตรวจ อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยส่งพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและรีบทำการรักษา แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมในกรณีต่อไปนี้
- อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี
- กลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปีที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ถึงเวลาที่ควรเริ่มตรวจครั้งแรกและความถี่ของการตรวจแมมโมแกรม
- การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม
การอัลตราซาวด์เป็นการตรวจเพื่อแสดงให้เห็นว่าก้อนในเต้านมนั้นมีลักษณะเป็นถุงน้ำหรือก้อนแข็งเท่านั้น แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ การตรวจด้วยการทำอัลตราซาวด์จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นการตรวจเพื่อคัดกรอง แต่สามารถใช้ช่วยนำทางในการตัดชิ้นเนื้อออกตรวจ หรือเจาะดูดชิ้นเนื้อของก้อนโดยเฉพาะในกรณีที่คลำก้อนได้ไม่ชัดเจน
- การตรวจเต้านมโดยแพทย์
การตรวจเต้านมโดยแพทย์เป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจร่างกายประจำปีหรือเมื่อสงสัยก้อนที่เต้านม แพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียดตามขั้นตอนเพื่อหารอยโรค สารคัดหลั่งผิดปกติและต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องในบริเวณนั้น
อาการ
โรคมะเร็งเต้านมอาจมีอาการที่น่าสงสัยเหล่านี้
- มีก้อนหรือความหนาตัวของเนื้อเต้านมหรือบริเวณใต้รักแร้ บางครั้งอาจมีอาการเจ็บบริเวณหัวนม (Nipple)
- เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น ขนาดหรือลักษณะภายนอกของเต้านมเปลี่ยนไป หัวนมมีการยุบหรือบุ๋มลงไปคล้ายโดนดึงรั้ง ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งมีรอยย่นยับ บวมแดง หรือบุ๋มดูคล้ายผิวส้ม
- มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต
การรักษา
แผนการรักษามะเร็งเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อน รวมถึงข้อพิจารณาอื่นๆ เช่น อายุผู้ป่วย สถานภาพของประจำเดือน สุขภาพทั่วไป เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัดและสารประกอบชีวภาพ (Biological therapy) แพทย์ผู้ดูแลมักแนะนำให้ใช้การรักษาแบบผสมผสานเพื่อผลการรักษาและการพยากรณ์ โรคที่ดีที่สุดโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
การตรวจติดตามโรค
การตรวจติดตามโรคมีความสำคัญไม่แพ้การรักษา แม้ตรวจไม่พบร่องรอยของโรคหลังครบการรักษาแล้ว มะเร็งเต้านมก็ยังมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก แพทย์จึงจำเป็นต้องนัดตรวจติดตามเป็นระยะๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าจะไม่กลับเป็นซ้ำอีก ซึ่งการตรวจติดตามประกอบไปด้วยการตรวจร่างกายโดยเน้นบริเวณทรวงอก คอ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง บางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ติดตามเพิ่มเติมด้วยแมมโมแกรมทั้งข้างที่รักษาแล้วและเต้านมอีกข้างเพื่อประเมินโรค
ตัวผู้ป่วยเองควรหมั่นสังเกตและหากมีอาการหรือสิ่งเปลี่ยนแปลงที่พบหลังการรักษา เช่น อาการเจ็บปวด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เลือดออกหรือประจำเดือนมาผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ไอเสียงแหบ ปวดหลัง อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที