มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
มะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยในผู้ใหญ่ โดยมะเร็งส่วนใหญ่สามารถรักษาหายขาดได้ถ้าสามารถวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เช่นกัน ดังนั้น การมีความรู้พื้นฐานและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ
สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักจะพบร่วมกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี แต่สามารถพบในอายุน้อยได้เช่นกัน
- ทานอาหารที่มีไขมันสูง และใยอาหารน้อย
- ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ หากพบมาก จะมีแนวโน้มเป็นมะเร็ง
- ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
- ผู้ป่วยที่มีพ่อ แม่ พี่ น้องเป็นมะเร็ง มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
- ผู้ป่วยทีเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ Ulcerative Colitis
วิธีลดความเสี่ยง
การวินิจฉัยและการตัดติ่งเนื้อ (Polyps) การหยุดสูบบุหรี่ การได้รับแอสไพริน การงดสุรา และการออกกำลังกายสามารถลดความเสี่ยงลงได้
อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อยมีดังนี้
- อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด
- เลือดปนอุจจาระ
- อุจจาระลำเล็กกว่าปกติ
- ท้องอืด แน่นท้องตลอดเวลา
- น้ำหนักลด
- อาเจียน
การวินิจฉัย
เมื่อแพทย์ทราบอาการของผู้ป่วยและสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจพิเศษเพิ่มเติมดังนี้
- ใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสวมถุงมือและทาครีมหล่อลื่นแล้วตรวจเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่
- ตรวจหาเลือดในอุจจาระ โดยให้งดเนื้อสัตว์และเลือดรวมทั้งวิตามินบำรุงเลือด 3 วันแล้วนำอุจจาระไปตรวจ หากผลตรวจให้ผลบวกแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร
- การส่องกล้องมีทั้งการส่อง Sigmoidoscope คือส่องดูแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และ Colonoscopy ส่องดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
- การสวนสี Barium Enema โดยการสวนสารทึบรังสีเข้าในลำไส้ใหญ่แล้ว X-ray ดูลำไส้ใหญ่
- การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ Biopsy อาจจะตัดชิ้นเนื้อขณะส่องกล้อง หรือตรวจหลังจากทราบผล X-ray
การรักษา
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมีการรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสุขภาพ ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค
- การผ่าตัด แพทย์จะตัดเนื้อร้ายทั้งหมดร่วมกับเนื้อดีบางส่วน โดยส่วนมาก แพทย์สามารถต่อลำไส้ได้ แต่บางรายที่ไม่สามารถต่อลำไส้ได้ แพทย์จะเปิดลำไส้ไว้ที่ผนังหน้าท้อง เพื่อถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องโดยมีถุงรองรับอุจจาระ
- การให้เคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัด
- การให้รังสีรักษา โดยส่วนมากจะให้ก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้อร้าย หรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์เนื้อร้ายที่เหลือ
- Biological Therapy คือการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
- หลังการรักษาควรไปตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตรวจดูว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ เพื่อที่จะให้ทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจหาเลือดในอุจจาระ X-ray เจาะเลือดตรวจ