มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก 

มะเร็งปากมดลูก มะเร็งที่เกิดจากเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งส่วนใหญ่ติดต่อจากการสัมผัสทางเพศสัมพันธ์ที่มีรอยถลอกของผิวหรือเยื่อบุ ทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปที่ปากมดลูก ปากมดลูกจึงมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อหรือเซลล์ จากปากมดลูกปกติกลายเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก 

มะเร็งปากมดลูกพบมากในผู้หญิงไทยรองลงมาจากมะเร็งเต้านม และแม้ว่ามะเร็งปากมดลูกจะเป็นโรคที่ป้องกันและรักษาให้หายได้ แต่โรคมะเร็งปากมดลูกก็ยังมีอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่รู้สึกอายและกลัวที่จะไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อมะเร็ง ทำให้กว่าจะรู้ว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก ความรุนแรงของโรคก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว 

ปัจจัยเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก

  1. มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุ 18 ปี
  2. เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  3. สูบบุหรี่ หรือใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่
  4. พันธุกรรม

อาการมะเร็งปากมดลูก

อาการตกเลือดทางช่องคลอด ลักษณะเลือดที่ออกอาจจะเป็นเลือดออกแบบกะปริบกะปรอยระหว่างมีรอบเดือน มีตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีเลือดปน หรือมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ ถ้ามีเลือดออกมามากและมะเร็งลุกลามออกไปด้านข้าง หรือลุกลามไปที่อุ้งเชิงกรานจะมีอาการปวดหลังได้ เพราะไปกดทับเส้นประสาท

อาการในระยะหลังเมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นหรือลุกลามสู่อวัยวะอื่นๆ ได้แก่ อาการขาบวม ปวดหลัง  ปวดก้นกบ ปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด เป็นต้น

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งปากมดลูก

  1. การผ่าตัด – หลังจากการผ่าตัดอาจเกิดอาการการตกเลือดและติดเชื้ออันตรายต่ออวัยวะใกล้เคียงได้
  2. การฉายแสง – ในระยะเวลา 1 – 2 เดือนจะมีผลข้างเคียงคือ ผิวแห้ง ปัสสาวะมีเลือดปน อ่อนเพลีย
  3. ยาเคมีบำบัด – จะมีผลข้างเคียงคือ มีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง มือเท้าชา โดยอาการเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับตัวยาแต่ละชนิดที่แพทย์เลือกใช้

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก

การป้องกันโรคมะเร็งชนิดใดๆ ก็คือการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งของโรคนั้นๆ ซึ่งสำหรับมะเร็งปากมดลูกก็คือเชื้อไวรัส HPV ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกลง และเพื่อช่วยให้การป้องกันมีประสิทธิภาพสูงสุด การฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกควรทำร่วมกับการตรวจคัดกรองเป็นประจำ โดยควรจะเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์ เพราะในการเกิดมะเร็งปากมดลูกจะผ่านขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่เริ่มมีการติดเชื้อไวรัส HPV เรื้อรัง และเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะอักเสบเรื้อรังที่นำไปสู่มะเร็ง 

การตรวจคัดกรองจะทำให้สามารถรักษาภาวะผิดปกติต่างๆ ก่อนที่จะเกิดเป็นมะเร็ง หรือตรวจพบมะเร็งระยะแรกเริ่มที่รักษาให้หายขาดได้ เพื่อป้องกันการเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามหรือแพร่กระจายนอกเหนือจากการฉีดวัคซีนแล้ว ควรเอาใจใส่ต่อสุขภาพ ตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ แม้จะมีอายุมากแล้วและไม่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ คือไม่มีประจำเดือนและไม่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ยังต้องตรวจคัดกรองตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์