มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 

มะเร็งลำไส้ใหญ่พบบ่อยในผู้ใหญ่ โดยมะเร็งส่วนใหญ่สามารถรักษาหายขาดได้ถ้าสามารถวินิจฉัยและรักษาได้เร็ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เช่นกัน ดังนั้น การมีความรู้พื้นฐานและปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่จึงเป็นเรื่องสำคัญ

สาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่มักจะพบร่วมกับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  1. มะเร็งลำไส้ใหญ่พบมากในผู้ป่วยอายุมากกว่า 50 ปี แต่สามารถพบในอายุน้อยได้เช่นกัน
  2. ทานอาหารที่มีไขมันสูง และใยอาหารน้อย
  3. ติ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ หากพบมาก จะมีแนวโน้มเป็นมะเร็ง
  4. ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรังไข่ มดลูก เต้านม มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
  5. ผู้ป่วยที่มีพ่อ แม่ พี่ น้องเป็นมะเร็ง มีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูง
  6. ผู้ป่วยทีเป็นลำไส้ใหญ่อักเสบ Ulcerative Colitis

วิธีลดความเสี่ยง

การวินิจฉัยและการตัดติ่งเนื้อ (Polyps) การหยุดสูบบุหรี่ การได้รับแอสไพริน การงดสุรา และการออกกำลังกายสามารถลดความเสี่ยงลงได้ 

อาการของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่พบบ่อยมีดังนี้

  1. อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกัน บางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด
  2. เลือดปนอุจจาระ
  3. อุจจาระลำเล็กกว่าปกติ
  4. ท้องอืด แน่นท้องตลอดเวลา
  5. น้ำหนักลด
  6. อาเจียน

การวินิจฉัย

เมื่อแพทย์ทราบอาการของผู้ป่วยและสงสัยว่าจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ แพทย์จะซักประวัติครอบครัว ประวัติส่วนตัว หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายทั่วไปและตรวจพิเศษเพิ่มเติมดังนี้

  • ใช้นิ้วมือตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสวมถุงมือและทาครีมหล่อลื่นแล้วตรวจเข้าทางทวารหนักเพื่อตรวจว่ามีก้อนเนื้อหรือไม่
  • ตรวจหาเลือดในอุจจาระ โดยให้งดเนื้อสัตว์และเลือดรวมทั้งวิตามินบำรุงเลือด 3 วันแล้วนำอุจจาระไปตรวจ หากผลตรวจให้ผลบวกแสดงว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร
  • การส่องกล้องมีทั้งการส่อง Sigmoidoscope คือส่องดูแค่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น และ Colonoscopy ส่องดูลำไส้ใหญ่ทั้งหมด
  • การสวนสี Barium Enema โดยการสวนสารทึบรังสีเข้าในลำไส้ใหญ่แล้ว X-ray ดูลำไส้ใหญ่
  • การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ Biopsy อาจจะตัดชิ้นเนื้อขณะส่องกล้อง หรือตรวจหลังจากทราบผล X-ray

การรักษา

การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมีการรักษาได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับสุขภาพ ตำแหน่ง ขนาด และระยะของโรค

  • การผ่าตัด แพทย์จะตัดเนื้อร้ายทั้งหมดร่วมกับเนื้อดีบางส่วน โดยส่วนมาก แพทย์สามารถต่อลำไส้ได้ แต่บางรายที่ไม่สามารถต่อลำไส้ได้ แพทย์จะเปิดลำไส้ไว้ที่ผนังหน้าท้อง เพื่อถ่ายอุจจาระทางหน้าท้องโดยมีถุงรองรับอุจจาระ
  • การให้เคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งที่เหลือจากการผ่าตัด
  • การให้รังสีรักษา โดยส่วนมากจะให้ก่อนผ่าตัดเพื่อลดขนาดของเนื้อร้าย หรือให้หลังการผ่าตัดเพื่อทำลายเซลล์เนื้อร้ายที่เหลือ
  • Biological Therapy คือการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
  • หลังการรักษาควรไปตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตรวจดูว่ามะเร็งกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่ เพื่อที่จะให้ทำการรักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจหาเลือดในอุจจาระ X-ray เจาะเลือดตรวจ